SWOT Analysis คืออะไร ? ใช้งานอย่างไรให้ธุรกิจเป็นที่รู้จัก
ในโลกธุรกิจที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน และความท้าทาย ทำให้การรู้จักตัวเอง และเข้าใจสภาพแวดล้อมรอบตัวเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง และโดดเด่นในสายตาลูกค้า โดยกลยุทธ์ “SWOT Analysis” คือ กุญแจสู่ความสำเร็จ ที่จะช่วยให้คุณมองเห็นภาพรวมของธุรกิจได้อย่างชัดเจน ทั้งจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค
ในบทความนี้ Common Ground จะพาคุณไปทำความรู้จักกับกลยุทธ์ทางการตลาดออนไลน์ SWOT Analysis อย่างลึกซึ้ง รวมถึงเรียนรู้วิธีใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ และคุณจะพบว่า เครื่องมือนี้สามารถช่วยให้ธุรกิจคุณโดดเด่นในสายตาลูกค้าได้อย่างไร ถ้าพร้อมแล้ว มาเริ่มกันเลย !
เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน
SWOT Analysis คืออะไร ?
SWOT Analysis คือ เครื่องมือที่ใช้วิเคราะห์ หรือประเมินสถานการณ์ สภาพแวดล้อม และศักยภาพของของธุรกิจ โดยแบ่งออกเป็นสองมิติ คือปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก
- ปัจจัยภายใน (Internal Factors)
ประกอบด้วย การวิเคราะห์จุดแข็ง (Strengths) และจุดอ่อน (Weaknesses) ขององค์กร ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่อยู่ภายใต้การควบคุม และบริหารจัดการขององค์กรโดยตรง โดยการระบุปัจจัยเหล่านี้อย่างชัดเจน จะช่วยให้องค์กรปรับปรุง และพัฒนาศักยภาพภายในได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ปัจจัยภายนอก (External Factors)
ประกอบด้วย การวิเคราะห์โอกาส (Opportunities) และอุปสรรค (Threats) ที่องค์กรเผชิญ โดยจะอยู่นอกเหนือการควบคุมขององค์กร ซึ่งการเข้าใจปัจจัยเหล่านี้ จะช่วยให้องค์กรวางแผนรับมือ และปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้ล่วงหน้า ทำให้ธุรกิจพร้อมรับมือกับความท้าทาย และฉกฉวยโอกาสใหม่ ๆ ได้มากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ การวิเคราะห์ปัจจัยภายใน และภายนอกของ SWOT Analysis จึงช่วยให้องค์กรสามารถประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน คาดการณ์แนวโน้มในอนาคต และกำหนดกลยุทธ์ที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และความยั่งยืนขององค์กรในระยะยาวนั่นเอง
องค์ประกอบสำคัญของ SWOT Analysis
การวิเคราะห์กลยุทธ์ทางการตลาดออนไลน์ SWOT ประกอบด้วยปัจจัย 4 อย่าง ดังนี้
- S – Strengths (จุดแข็ง)
จุดแข็ง คือ ข้อดีที่มาจากสภาพแวดล้อมภายในองค์กร รวมทั้งข้อได้เปรียบที่โดดเด่น หรือแตกต่างจากคู่แข่ง
- W – Weaknesses (จุดอ่อน)
จุดอ่อน คือ ปัญหา สิ่งที่ขาดแคลน หรือข้อบกพร่องที่เกิดจากสภาพแวดล้อมในขององค์กร ซึ่งต้องหาวิธีปรับปรุงให้ดีขึ้น หรือขจัดให้หมดไป
- O – Opportunities (โอกาส)
โอกาส คือ สถานการณ์ที่ส่งผลดี และเอื้อประโยชน์ต่อองค์กร จะช่วยส่งเสริมให้องค์กรสร้างรายได้ หรือทำกำไรเพิ่มขึ้น ซึ่งแตกต่างจากจุดแข็งตรงที่ “จุดแข็ง” เป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมภายใน
แต่ “โอกาส” เป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมภายนอก เช่น ภาวะเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เทคโนโลยี และการแข่งขันในตลาด เป็นต้น
- T – Threats (อุปสรรค)
อุปสรรค คือ สถานการณ์ หรือข้อจำกัดที่เกิดจากปัจจัยภายนอก และส่งผลเสียต่อการทำธุรกิจ เช่น สถานการณ์ Covid-19 หรือภาวะสงคราม ที่ทำให้สินค้าขาดแคลน เป็นต้น
ขั้นตอนการทำ SWOT Analysis แบบ Step by Step
สำหรับใครที่กำลังมองหาวิธีเริ่มต้นทำ SWOT Analysis ในหัวข้อนี้ Common Ground จะพามาดูวิธีการทำทีละขั้นตอนให้เข้าใจง่าย ๆ ดังนี้
1. ตั้งวัตถุประสงค์
ก่อนเริ่มวิเคราะห์ SWOT ธุรกิจควรกำหนดวัตถุประสงค์ก่อนเป็นลำดับแรก เช่น อยากเพิ่มยอดขาย ขยายฐานลูกค้า หรือเปิดตัวสินค้าใหม่ เพราะการมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน จะช่วยให้การวิเคราะห์ SWOT มุ่งไปที่ประเด็นสำคัญ และสามารถนำผลลัพธ์ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. รวบรวมข้อมูล
การวิเคราะห์ SWOT ต้องรวบรวมข้อมูลจากทั้งภายใน และภายนอกองค์กร โดยข้อมูลภายใน ตัวอย่างเช่น
- ข้อมูลด้านการเงิน เช่น การขาย และต้นทุน
- ข้อมูลประสิทธิภาพการผลิต
- หรือ ข้อมูลสินทรัพย์ที่มีในองค์กร เช่น ความรู้ ความเชี่ยวชาญ เครือข่าย และทักษะ เป็นต้น
และข้อมูลภายนอก เช่น
- ข้อมูลคู่แข่ง
- ข้อมูลตลาด
- ข้อมูลเศรษฐกิจ และสังคม เป็นต้น
ทั้งนี้ การรวบรวมข้อมูลที่ถูกต้อง และครอบคลุม จะช่วยให้คุณวิเคราะห์ SWOT ได้แม่นยำยิ่งขึ้น
3. ระดมสมอง
การจัดประชุมทีม เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จัดหมวดหมู่ให้กับข้อมูลที่รวบรวมมา และระดมสมองหาไอเดียเพิ่มเติมเกี่ยวกับ SWOT ของธุรกิจ โดยมีตัวอย่างแนวทางการวิเคราะห์ ดังนี้
Strengths
- อะไรคือสิ่งที่ธุรกิจของคุณทำได้ดี
- อะไรคือข้อได้เปรียบ ที่ทำให้คุณเหนือกว่าคู่แข่ง
- ทรัพยากรที่มีค่าของธุรกิจคุณคืออะไร
- พนักงานของคุณมีความสามารถด้านใดบ้าง
Weakness
- อะไรคือสิ่งที่ธุรกิจยังทำได้ไม่ดี
- อะไรคือสิ่งที่ทำให้เสียเปรียบคู่แข่ง
- ขาดแคลนทรัพยากรอะไรบ้าง
- ต้องพัฒนาอะไรเพิ่มเติมบ้างในองค์กร
Opportunities
- มีแนวโน้ม หรือเทรนด์ใหม่ ๆ อะไรในตลาดบ้าง
- มีช่องทางธุรกิจใหม่ ๆ อะไรบ้างที่คุณสามารถเข้าร่วมได้
- คู่แข่งกำลังทำอะไร
- เศรษฐกิจโดยรวมเป็นอย่างไร
Threats
- ในตลาดมีคู่แข่งมากน้อยแค่ไหน และมีคู่แข่งใหม่ ๆ เข้ามาในตลาดหรือไม่
- มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี หรือกฎหมาย ที่ส่งผลต่อธุรกิจหรือไม่
- เศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัวหรือไม่
- มีภัยธรรมชาติ หรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันอะไร ที่อาจเกิดขึ้นบ้าง
4. จัดกลุ่มข้อมูล
ขั้นตอนสุดท้าย เมื่อระดมสมอง และนำไอเดียทั้งหมดไปจัดหมวดหมู่แล้ว ก็ถึงเวลาจัดกลุ่มข้อมูลด้วยการวิเคราะห์ แล้วเลือกไอเดียที่ดีที่สุด หรือความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดมาพิจารณาว่า จุดแข็ง และโอกาสนั้น ๆ จะช่วยให้ธุรกิจเอาชนะจุดอ่อน และอุปสรรคได้อย่างไร จากนั้นกำหนดกลยุทธ์ให้เหมาะสม เพื่อนำจุดแข็งไปต่อยอด เสริมจุดอ่อน คว้าโอกาส และรับมือกับอุปสรรคที่กำลังจะเข้ามา
ตัวอย่าง การวิเคราะห์ SWOT กับการประกอบธุรกิจในไทย
หลังจากเรียนรู้ และเข้าใจกระบวนการทำ SWOT Analysis คืออะไร และทำอย่างไรไปแล้ว เรามาลองวิเคราะห์กลยุทธ์การตลาด อย่าง SWOT กับการประกอบธุรกิจในประเทศไทยกันว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าพร้อมแล้ว ไปเริ่มกันเลย
Strengths
- ค่าครองชีพไม่แพง เหมาะแก่การลงทุน และอยู่อาศัย
- มีแรงงานที่มีทักษะ อ่อนน้อมถ่อมตน และพร้อมเรียนรู้
- โครงสร้างพื้นฐานมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สะดวกต่อการประกอบธุรกิจ
- ภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนการประกอบธุรกิจ
Weaknesses
- ภาษาไทย เป็นภาษาที่ยากต่อการเรียนรู้สำหรับชาวต่างชาติ
- ปัญหาคอร์รัปชัน ยังเป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ
- กฎหมายบางฉบับ ยังไม่เอื้ออำนวยต่อการประกอบธุรกิจ
- ระบบราชการยังมีความล่าช้า เอกสารยุ่งยาก
Opportunities
- ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของ ASEAN เปิดโอกาสทางการค้า และการลงทุน
- ไทยเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยว ทำให้กับธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องน่าลงทุน
- เทรนด์ผู้บริโภคมุ่งเน้นความสะดวก รวดเร็ว สร้างโอกาสให้กับธุรกิจใหม่ ๆ
- ภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนธุรกิจ SMEs สร้างโอกาสให้ธุรกิจขนาดเล็กเติบโต
Threats
- เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ธุรกิจต้องปรับตัวให้ทัน
- ภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม และภัยแล้ง ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ
- ความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
คุณพร้อมแล้วหรือยัง ที่จะพัฒนาธุรกิจด้วย SWOT Analysis ไปพร้อม ๆ กัน ? Common Ground Agency ในฐานะที่ปรึกษาการตลาด เราพร้อมให้คำปรึกษา สนับสนุน และสร้างโซลูชันที่เหมาะกับธุรกิจของคุณ ติดต่อเราวันนี้ เพื่อเริ่มต้นการเดินทางสู่ความสำเร็จในยุคดิจิทัล !
Tel. 081-426-6695
Email: [email protected]
Facebook Page: Common Ground